สาเหตุของสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คัน และตกสะเก็ด
ในคนปกตินั้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัว ตายและหลุดออกไปเป็นวัฏจักร โดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดประมาณ 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินนี้ ผิวหนังจะมีการแบ่งตัวหรือการงอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วที่ไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย
มีการสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ ชนิด T cells (ปกติจะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป เมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนัง ก็จะทำงานร่วมกับสารอื่นๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้
สะเก็ดเงิน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม ที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน โดยพบว่าถ้าบิดาและมารดาที่มีอาการนี้ บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นได้สูงถึง 65-83% ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็น บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นลดลงเหลือ 28-50% หรือถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็น บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นได้สูงถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นสะเก็ดเงินเลย บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นน้อยลงไปเหลือเพียง 4% โดยลักษณะทางพันธุกรรมนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเกิดสะเก็ดเงิน และการเป็นสะเก็ดเงินก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แม้ผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของสะเก็ดเงินอยู่ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้นหรือกระทบ ก็จะไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินแต่ละรายจึงควรสังเกตและพยายามหาให้ได้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพราะปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบในผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินแต่ละรายนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่อย่างใด
ปัจจุบันพบว่ามียีนผิดปกติของอาการสะเก็ดเงินนี้อยู่มากกว่า 8 ชนิด ซึ่งผู้ที่มีอาการแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีอาการแสดงได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่มียีนแฝงอยู่ในร่างกายมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ
ปัจจัยภายนอกร่างกาย
- การติดเชื้อ ได้แก่ คออักเสบจากไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ส่วนภาวะติดเชื้ออื่นๆ ก็สามารถกระตุ้นให้อาการกำเริบได้เช่นเดียวกัน
- การบาดเจ็บที่ผิวหนัง การแกะ เกา ขูด กดเสียดที่ผิวหนัง สามารถทำให้ผื่นของสะเก็ดเงินกำเริบและลุกลามเพิ่มขึ้นได้ เราจึงมักพบผื่นบริเวณศอก เข่า ก้นกบ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการแกะ เกา เสียดสีมากที่สุด
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคจิตประสาทกลุ่มลิเทียม, ยารักษาโรคมาลาเรีย, ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta adrenergic blocking agent, ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและชนิดฉีด ดังนั้นผู้ที่มีอาการจึงควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาจีน ยาหม้อ ยาสมุนไพร ยาไทยบางชนิดที่ผสมสเตียรอยด์เข้าไปในส่วนผสมของยา แม้ว่ายาสเตียรอยด์จะช่วยให้อาการของสะเก็ดเงินสงบลงได้ในระยะแรกๆ ที่ได้รับยา แต่เมื่อใช้ไปในระยะยาวจะมีผลข้างเคียงสูง เช่น กระดูกผุ ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เบาหวานกำเริบ กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง เป็นต้น
ปัจจัยภายในร่างกาย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ภาวะผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ (เช่น ตับ และไต เป็นต้น) จะส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อผิวหนังด้วยเสมอ ดังนั้นผู้ทีี่เป็นสะเก็ดเงินจะมีอาการกำเริบได้เมื่อเกิดความผิดปกติกับอวัยวะภายในอื่นๆ
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สภาพทางจิตใจของผู้ที่มีปัญหาสะเก็ดเงิน มีอิทธิพลต่ออาการของสะเก็ดเงิน โดยพบว่าผู้ที่มีความเครียด หงุดหงิด โกรธง่าย และนอนไม่หลับ ผื่นจะกำเริบแดงขึ้น คันมากขึ้น ทำให้ต้องแกะ เกา จนส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่พบว่ามีสาเหตุอะไรเป็นตัวกระตุ้นก็ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สะเก็ดเงินกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้น
- ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ ความกลัว ความหงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือผิดปกติได้
- การกระทบกระแทก การแกะ เกา กด ขูด ข่วน ถู ดึง ลอก หยิกที่ผิวหนัง ผิวหนังมีบาดแผล และแมลงสัตว์กัดต่อย
- การแพ้แดดหรือโดนแสงแดดมากเกินไป
- อากาศที่หนาวเย็น
- ความอ้วนหรือโรคอ้วน ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยาต้านมาลาเรีย (Anti-malarial), ยาแก้ปวดอินโดเมธาซิน (Indomethacin), ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาไอโอไดด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานและชนิดฉีด รวมไปถึงยาจีน ยาหม้อ ยาไทย ยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ทาหรือรับประทาน เป็นต้น
- การหยุดยาสเตียรอยด์ที่เคยใช้อยู่ก่อนก็อาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้
- การติดเชื้อต่างๆ ติดเชื้อที่คอ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี
- การระคายเคืองจากดีเทอร์เจน ผงซักฟอก สบู่ ครีมที่มีกรดเป็นส่วนผสม เช่น ครีมลอกหน้า ครีมขัดผิว
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ในระยะมีประจำเดือน/หมดประจำเดือน ระยะการตั้งครรภ์หรือช่วงหลังคลอด
- พฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การเล่นการพนัน การเล่นกีฬาอย่างหักโหม
สะเก็ดเงินเป็น ภาวะทางพันธุกรรมที่มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกาย รวมทั้งปัจจัยทางด้านจิตใจ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ เป็นมากขึ้น ยังคงเป็นอยู่ และดำเนินต่อไป